บุคคลดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้องสิทธิมนุษยชน


รางวัลประเภทเด็กและเยาวชนชายดีเด่น
ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี ๒๕๕๔
ชื่อ – นามสกุล              นายนพดล อยู่พรหมแดน
วัน-เดือน- ปีเกิด          ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
ที่อยู่                             บ้านเลขที่ ๒๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๕๘๑๑๐
                                    โทรศัพท์มือถือ  ๐๘๐ ๖๗๙ ๗๘๐๑   E-mail   Nop_tpg@hotmail.com
การศึกษา                     คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ ๒
ประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน
            -ประธานยุวชนประชาธิปไตยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปศึกษาดูงานการพัฒนาประชาธิปไตยและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ราชอาณาจักรสเปน  สาธารณรัฐโปรตุเกส  สาธารณรัฐอิตาลี และศึกษาดูงานเชิงเปรียบเทียบที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
            -ประธานศูนย์ข่าวเยาวชนไทย โรงเรียนแม่สะเรียง บริพัตรศึกษา ทำรายการสกู๊ปชีวิตสะท้อนปัญหาของเด็กไร้สัญชาติออกอากาศทางช่อง Nation Chanel 
            -แกนนำเยาวชนในการต่อต้านการสร้างเขื่อนสาละวิน เพื่อปกป้องผืนป่าและสิทธิของชาวบ้านตำบลแม่สามแลบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของนพดลและครอบครัว
            -ประธานสภานักเรียน และเป็นแกนนำของนักเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอนในการทำงานเรื่องประเด็นปัญหาเด็กไร้สัญชาติ
            -รองประธานชมรม “ต้นกล้าเมืองแม่ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาสที่อยู่บนดอยในพื้นที่ห่างไกล เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
            -ประธานนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินกิจกรรมปลูกฝังรณรงค์ให้นักศึกษาตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติ เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
รางวัลและประกาศเกียรติคุณที่เคยได้รับ
            -รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๔ สาขาการพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน จากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
            -นักเรียนรางวัลพระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๒ ระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ เขต ๘ จากกระทรวงศึกษาธิการ
ฉันจึงมาหาความหมาย “สิทธิมนุษยชน” ความปรารถนาของเด็กชาวเขาบนผืนแผ่นดินบ้านเกิด 
ณ หมู่บ้านซิวาเดอ  เด็กชายชาวปกากะญอ “นพดล อยู่พรหมแดน” ได้เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวชาวเขา ซึ่งประกอบอาชีพหลักคือ ทำไร่ ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญบริเวณชายแดนไทยพม่า ริมแม่น้ำสาละวิน ตำบลแม่สามแลบ เขตอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ป่าเขาลำเนาไพรที่รายล้อมคือชีวิตของเด็กชายนพดลและชาวเขาเผ่าปกากะญอ หรือชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ท่ามกลางวิถีแห่งธรรมชาติน่าจะเป็นชีวิตที่สงบและงดงาม แต่ห้วงแห่งความทรงจำของเด็กน้อยนพดลขณะนั้นคือ ชีวิตที่อยู่ใกล้ชิดกับความโหดร้ายของการสู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับทหารของรัฐบาลพม่า ภาพที่ได้พบเห็นอยู่เนืองนิจคือ การฆ่าประชาชนในหมู่บ้านอย่างไร้มนุษยธรรม ปราศจากความเมตตา ราวกับว่าไม่มีกฎหมายใดๆ บนพื้นที่แห่งนี้ จากประสบการณ์อันเลวร้ายที่ต้องหลบลี้หนีภัยอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เด็กชายนพดลมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความรู้และค้นหาความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” พร้อมตั้งปณิธานว่า จะต้องทำให้คำว่า “สิทธิมนุษยชน” เกิดขึ้นและเป็นจริงในผืนแผ่นดินบ้านเกิดของเขาให้จงได้
            โรงเรียนบ้านซิวาเดอ คือสถานที่ศึกษาแห่งแรกในชีวิตซึ่งนพดลรักและภูมิใจ เพราะที่แห่งนี้ทำให้เด็กชายชาวเขาอ่านภาษาไทยออก เขียนภาษาไทยได้ ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายในชีวิต เบิกทางให้เขาก้าวสู่เส้นทางการศึกษาจากชีวิตเด็กดอยสู่พื้นที่ราบ เผชิญโลกภายนอกเป็นครั้งแรก ณ โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์ ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  ชีวิตที่ต้องห่างไกลครอบครัวทำให้นพดลต้องดูแลตนเอง รับจ้างทำงานในวันหยุด ปลูกข้าวโพด หอม กระเทียม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ซึ่งยังต้องดูแลเลี้ยงน้องของนพดลอีกสองคน  รายได้จากหยาดเหงื่อแรงงานจึงเป็นค่าหนังสือตำรา อุปกรณ์การเรียน และของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เหล่านี้ได้บ่มเพาะให้นพดลรู้คุณค่าของเงินทองและการอดออมตลอดมาจนทุกวันนี้
            การศึกษาเป็นเรื่องที่นพดลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เขาได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแม่สะเรียง บริพัตรศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ประจำอำเภอ สิ่งหนึ่งที่นพดลยังคงปฏิบัติอยู่เช่นเดิมคือ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนและส่วนรวม ทำให้เขาก้าวขึ้นมาสู่การเป็นแกนนำเยาวชน ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะพัฒนาและแสวงหาความรู้ให้กับตนเอง โดยไม่ลืมความตั้งใจเดิมที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ด้วยความปรารถนาว่า ดินแดนแห่งนั้นจะสงบและร่มเย็น ด้วยวิถีชีวิตสิทธิมนุษยชน
            ปัจจุบัน เด็กชายชาวเขาผู้มุ่งมั่นคนนั้นได้เติบโตอย่างเข้มแข็งเป็นหนุ่มน้อยวัย ๒๒ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาสังคมศึกษาและสิ่งแวดล้อม  เป็นประธานนักศึกษาชั้นปีของคณะ และยังใฝ่หาที่จะเรียนรู้ความเป็นสังคม การดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งความรู้และความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” อยู่เช่นเดิม
สาละวิน...สายธารน้ำไหลผ่านหัวใจ สายใยแห่งชีวิต
            วิถีชีวิตของชาวปกากะญอ ตำบลแม่สามแลบ ตลอดมาผูกพันกับผืนป่าและลำน้ำสาละวิน สายน้ำที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตของชาวอำเภอสบเมยและชาวชนเผ่า นพดลเติบโตมาเช่นนี้ท่ามกลางการเลี้ยงดูแบบพึ่งพาและอาศัยธรรมชาติ พ่อณรงค์และแม่แดงสอนลูกอยู่เสมอให้รักป่า รักน้ำ รักเพื่อนบ้าน ปกป้องที่อยู่อาศัย และ“ได้หน้าแล้วอย่าลืมหลัง” สิ่งเหล่านี้ ทำให้นพดลระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องปกป้องและธำรงไว้ซึ่งสิ่งที่บรรพบุรุษรักษาไว้ให้ และไม่เคยลืมว่า ตนเองเติบโตมาจากที่ไหน  ด้วยเหตุนี้นพดลจึงอาสาเป็นแกนนำในฐานะเยาวชน คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน ซึ่งเป็นโครงการที่ชาวบ้านในเขตอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้อย่างมหาศาลเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวสบเมยและพี่น้องชาวปกากะญอ การดำเนินงานของนพดลเป็นไปอย่างสงบและงดงามผ่านพิธีกรรมการบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน และผ่านการให้ข้อมูลแก่นักวิจัยที่เข้ามาสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อน ด้วยความหวังว่าจะยับยั้งโครงการดังกล่าวมิให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าพื้นที่บ้านเกิด และคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของชาวสบเมยและพี่น้องชาวปกากะญอให้ดำรงไว้สืบต่อไป
“อยู่ดอย...ก็เป็นที่หนึ่งได้” ความฝันสู่เส้นทางนักการศึกษา
            แม้ครอบครัว “อยู่พรหมแดน” จะไม่ประสบปัญหาในเรื่องสัญชาติ แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อนๆ ของนพดลต่างก็ประสบปัญหาในเรื่องดังกล่าวพอสมควร “ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิที่พวกเขาได้รับก็ไม่เท่ากับเรา ทำให้ผมได้เข้าใจถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมาตลอด การศึกษาในมุมมองของผมคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม”
            “ตอนเด็กๆ ผมเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีครูเข้าไปสอนเพราะหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก แต่ผมมีความตั้งใจที่จะต้องเรียนหนังสือให้ได้ อยากให้คนในหมู่บ้านได้รู้ว่า การเรียนนั้นสำคัญมากเพียงใด และคงไม่เกินความสามารถของเด็กดอยคนหนึ่ง อยู่ดอย...ก็เป็นที่หนึ่งได้ คือสิ่งที่อยู่ในใจของผมตลอดมา”
            ความฝันของนพดล คือ การได้เป็นครู เพื่อกลับไปสอนเด็กๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลความเจริญ อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิด และสร้างความเท่าเทียมกันในฐานะนักการศึกษา    
            “ผมจึงเลือกเรียนทางด้านศึกษาศาสตร์ และจะดีใจมากถ้าได้เห็นน้องๆ เด็กๆ ในหมู่บ้าน ได้มีโอกาสเรียนหนังสือเช่นเดียวกับผม พร้อมกันนี้ก็อยากปลูกฝังให้น้องๆ ได้ช่วยเหลือสังคมส่วนรวมตามกำลังที่มีด้วย เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวิชาที่เราเรียนรู้จากการที่เราร่วมทำงานกับคนอื่นเพื่อส่วนรวม ซึ่งผมเรียกว่า วิชาชีวิต เป็นการเรียนรู้ทางสังคมด้วยตนเอง ทุกวันนี้...การทำกิจกรรมเพื่อสังคมจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผม”
สิทธิมนุษยชน...มีอยู่ในตัวของคนทุกคน
            “เมื่อก่อนนั้น ผมยังไม่เข้าใจว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร เพียงแต่เคยได้ยินและเป็นคำที่คุ้นเคย เพราะหมู่บ้านซิวาเดอของผมอยู่ในละแวกเดียวกับศูนย์อพยพของชาวพม่า ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อผมได้ศึกษาเรียนรู้และมีประสบการณ์จากการทำงานเพื่อสังคม จึงได้รู้ว่า สิทธิมนุษยชน ไม่จำเป็นต้องไปหาที่อื่นไกล เพราะสิทธิมนุษยชนมีอยู่ในตัวของคนทุกคน เป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในส่วนบุคคลและสิทธิในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งมีทั้งสิทธิตามกฎหมายและสิทธิที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติตามกฎหมาย แต่เป็นสิทธิที่เกิดจากมาตรฐานของความถูกต้องและความเป็นธรรม ผมเห็นว่า การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางสังคมและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”  
การอยู่เพื่อตน...อยู่ได้แค่ชั่วชีวิต แต่ถ้าอยู่เพื่อสังคม...จะอยู่ชั่วนิรันดร์
            “การได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการอยู่เพื่อตนนั้น...อยู่ได้แค่ชั่วชีวิต แต่ถ้าได้อยู่เพื่อสังคม เราจะอยู่ได้ชั่วนิรันดร์  ขอเพียงได้แค่ทำความดีและประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม และได้ฝากรอยทางที่ดีงามไว้ให้น้องๆ คนรุ่นหลังได้เดินตาม ผมไม่เคยลืมว่า ผมเป็นเด็กชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาตนเอง ผมจึงมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือให้น้องๆ เด็กชาวเขาทุกคนได้รับโอกาสเช่นกันในเรื่องความเท่าเทียมกันทางการศึกษาและโอกาสในการพัฒนาตนเอง ที่สำคัญเสมอและไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ การเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นลูกศิษย์ที่ดีของคุณครู เป็นคนดีของสังคม และความตั้งใจที่จะได้ตอบแทนบุญคุณแก่แผ่นดินที่ให้กำเนิดมา...ประเทศไทย” 
            ปณิธานสูงสุดในชีวิตของเด็กหนุ่มชาวเขาที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่

ดูรูปภาพเพิ่มเติมที่  http://noppadonyoopromdan.blogspot.com/2012/01/blog-post_27.html
                             
-------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประสบการณ์ในแดนมังกร

ท่องยุโรปไปกับยุวชนประชาธิปไตย

ท่องยุโรปไปกับยุวชนประชาธิปไตย
ประสบการณ์ในการทัวร์ยุโรปมา ช่างเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นจริงๆ และผมก็มีรูปภาพสวยๆมาฝากกันมากมายเลยทีเดียวครับ ก็ขอเชิญเยี่ยมชมได้เลยครับ ไปกันเล้ยยยๆ!!!!!