บทบาทผู้นำต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในหมู่บ้านซิวาเดอ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
นพดล
อยู่พรหมแดน
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
1.
บทนำ
การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมในระดับชุมชนนั้นจำเป็นจะต้องทราบถึงประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและระยะเวลาการเปลี่ยนแปลง
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และพิจารณาลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่เชื่องโยงกับบริบทของสังคมในสมัยนั้น
งานศึกษาชิ้นนี้พยายามสะท้อนภาพของกระแสการอนุรักษ์ป่าไม้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
แต่ทว่ากลับไปขัดแย้งกับวิถีชุมชนที่เคยอยู่กับป่ามาก่อน อย่างหมู่บ้านซิวาเดอ
หมู่ที่ 3 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวปกาเก่อญอ ตั้งอยู่ในเขตชายแดนไทย-พม่า ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างหาทางออกร่วมกันเป็นเวลานาน
แต่ก็มิอาจบรรลุเป้าประสงค์ของแต่ละฝ่ายสักทีนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร
และฐานความคิดที่ไม่ตรงกันเกิดจากประเด็นอะไร บทความชิ้นนี้สามารถเปิดมุมมองการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวคิดของคนในชุมชน
และวิธีการในการอนุรักษ์ป่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การขยายตัวของการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
โดยอาศัยการเก็บข้อมูลจากผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านและผู้มีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้
เพื่อให้มองเห็นการเคลื่อนตัวของโครงสร้างสังคมในระดับชุมชน
โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2550 (2 ทศวรรษที่ผ่านมา)
หากพูดถึงทรัพยากรป่าไม้แล้ว
คงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนไทยรู้จักดีที่สุด
เพราะว่าประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้
เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาความชุ่มชื้นให้กับโลกไว้ แต่ทว่าในทศวรรษที่ผ่านมาด้วยกระแสทุนนิยมที่ทักโถมเข้ามาสู่สังคมไทย
และแพร่กระจายออกไปสู่สังคมชนบท ทำให้กลืนกินทรัพยากรป่าไม้ของไทยเป็นจำนวนมาก
นับวันยิ่งลดน้อยถอยลงตามลำดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตพื้นที่ที่เคยเป็นต้นน้ำ
ทุกวันนี้เขตป่าไม้ได้ถูกบุกรุก และแปรสภาพเป็นไม้แปรรูปเพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมป่าไม้
จากสถิติของมูลนิธิสืบนาคเสถียรทำให้เราทราบว่า
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยทำลายป่าไปในพื้นที่ 1/3 ของเนื้อที่ประเทศไทย
ประมาณ 155,885 ตารางกิโลเมตร หรือ เท่ากับ 56 เท่า
ของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่
มุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์
และการสัมปทานป่าไม้และไม่มีการป้องกันการบุกรุกตามมา จากอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีจังหวัดต่างๆที่ปกคลุมด้วยป่าไม้เกือบทั้งจังหวัดประมาณ
18 จังหวัด และมีเนื้อที่ป่าไม้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ 23 จังหวัด
ปัจจุบันเหลือจังหวัดที่มีป่าไม้ปกคลุมมากกว่า 70% อยู่ 5 จังหวัด
และมีจังหวัดที่ป่าไม้ปกคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ 8 จังหวัด
มาตรการจัดการป่าของประเทศไทย คือ การประกาศป่าสงวนแห่งชาติ
ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507
แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่มุ่งในการควบคุมพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นสำคัญ
ทั้งการให้สัมปทานไม้ในอดีต และยังคงมีการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์หรือกระทั่งอยู่อาศัยในพื้นที่
ดังนั้นพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกประกาศปัจจุบันจึงมีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ในอีกมุมหนึ่ง การอนุรักษ์ป่าที่ได้ผลมากกว่าการประกาศป่าสงวนคือ
การประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ พื้นที่คุ้มครอง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ
เขตรักษาพันธุสัตว์ป่า วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึง
สวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์
ซึ่งแม้ว่าจะสามารถรักษาพื้นที่ที่ถูกประกาศส่วนใหญ่ไว้ได้แต่เนื่องจากขั้นตอนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในอดีตมิได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน
จึงทำให้มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ทำกิน และเก็บหาของป่าของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงสิทธิชุมชนมากมายในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2541) ในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีการขยายพื้นที่เดิม ที่ไม่มีการแสดงแนวเขตการควบคุมที่ชัดเจนก็ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากการขยายตัวทั้งชุมชนกลางป่า
และขอบป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หลังการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ต่างๆ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทั้งจากบริษัทเอกชน
และนโยบายการสนับสนุนที่ขาดความรอบคอบของรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง
และสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มเติมตลอดมา 2 การจัดการป่าไม้ของภาครัฐที่ไม่มีความครอบคลุมส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของการใช้ทรัพยากรป่าไม้
โดยเฉพาะประเด็นการอาศัยอยู่ของชาวไทยภูเขาซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามเขตพื้นที่สูงและเขตชายแดนเป็นจำนวนมาก
แต่ละท้องถิ่นก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป
รวมทั้งวิธีการในการอนุรักษ์ป่าไม้ที่สามารถจัดการผืนป่าด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ
ดั้งเดิม เมื่อรัฐมองข้ามประเด็นดังกล่าว แล้วอ้างอำนาจของกฎหมายเพื่อจัดการป่า
จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง
จนนำไปสู่การรวมตัวกันของประชาชนในการเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน 3
เพื่อขอใช้สิทธิในการจัดการป่าด้วยตนเอง เพียงแค่รัฐให้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นในวิธีของชาวบ้านต่อการรักษาผืนป่าอันเป็นถิ่นเกิดของตนเอง
โดยอาศัยกลไกผู้นำชุมชนในการรักษาป่า หนึ่งในหมู่บ้านที่มีแนวคิดการอนุรักษ์ป่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
ก็คือ หมู่บ้านซิวาเดอ ที่ผู้ศึกษาจะได้นำมาเสนอรายละเอียดต่อผู้อ่านในหัวข้อถัดไป

จากตำแหน่งแห่งที่ของปกาเก่อญอในสังคมไทย
ซึ่งผูกติดอยู่กับความเป็นป่ามาตั้งแต่ยุคก่อนและหลังรัฐชาติสมัยใหม่นั้น ความเป็น
คนป่า จึงมีผลต่อการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของปกาเก่อญออย่างมาก
โดยเฉพาะกลุ่มปกาเก่อญอในหมู่บ้านซิวาเดอ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชายแดน ไทย-พม่า
เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีความน่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนกลางป่าใหญ่
ในขณะที่ภาพของการเป็นคนป่า หรือคนดอยได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างยาวนาน
ตั้งแต่ในยุคก่อนสมัยใหม่ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างปกาญอกับคนพื้นที่ราบที่มีการแบ่งแยก
ตำแหน่งแห่งที่ระหว่างกันด้วยแนวคิดเรื่อง ความศิวิไลซ์และไม่ศิวิไลซ์
ดังที่ปรากฏและพูดถึงในงานของ Renard, Ronald D. (2000:
p.63-66) ว่าปกาญอถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนดั้งเดิมที่ถูกเรียกว่า
ข่า อยู่ในป่าเขา
ไม่มีบทบาทกับเมืองศิวิไลซ์และมีอารยะและไม่ใช่ไทย จนในยุคสมัยใหม่
ความเป็นปกาเก่อญอ ยังคงผูกติดกับความเป็นป่า แต่มีกลไกที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คือ
ปกาเก่อญอมีภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับการเป็นคนป่าคนดอยอยู่และยังถูกขับเคลื่อนผ่าน
วาทกรรมชาวเขา การถูกกักขังภาพลักษณ์จากภาครัฐและสื่อต่างๆอีกด้วย โดยมีภาพของการเป็นคนป่าหรือชาวเขาที่ตัดไม่ทำลายป่า
แต่ขณะเดียวกัน
ก็มีการสร้างวาทกรรมอีกชุดหนึ่งขึ้นมาจากนักวิชาการหรือชาติพันธุ์ปกาเก่อญอและสื่อต่างๆว่าปกาเก่อญออนุรักษ์ป่าหรือปกาเก่อญอ
คนอยู่กับป่าซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพของการเป็นคนหรือกลุ่มคนที่ผูกติดกับป่าและมีการผลิตแบบธรรมชาติ
ดังนั้น จากภาพลักษณ์ดังกล่าวนอกจากจะสร้างเรื่องราวและการรับรู้
เกี่ยวกับปกาเก่อญอในสังคมไทยแล้ว
ยังทำให้เกิดการสร้างระยะห่างของปกาเก่อญอออกจากคนส่วนใหญ่ในสังคมและจัดจำแนกให้ปกาญอเป็นชาวเขา
หรือชนกลุ่มน้อย ที่อยู่ในตำแหน่งทางสังคมที่ต่ำกว่า
แต่อย่างไรก็ตามด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมทุกๆแห่ง
แม้กระทั่งในเขตชนบทก็มีการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบนดอยเริ่มเข้ามาผูกติดกับความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น
จากการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม4 โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเขตชนบททำให้การบริหารจัดการชุมชนก็เริ่มมีความซับซ้อนขึ้นด้วย
กฎเกณฑ์ของสังคมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
เมื่อการศึกษาเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของพี่น้องชาวเผ่าปกาเก่อญอ
การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่นก็เริ่มมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน
จากประวัติศาสตร์การบอกเล่าของชาวปกาเก่อญอในบ้านซิวาเดอ
“ตั้งแต่จำความได้เราไม่เคยรู้ว่าเรามาจากไหน
แต่รู้ว่าเราอยู่กับเป็นครอบครัวใหญ่ๆ
มีการย้ายถิ่นเนื่องจากเกิดโรคระบาด
จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนที่ตั้งของหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่การอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากนั้นมีความแออัด
และเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
จึงจำเป็นต้องมีการย้ายที่อยู่ของแต่ละวงศ์ตระกูล
ให้อยู่คนละพื้นที่ จึงทำให้เกิดการกระจัดกระจายกันอยู่แต่ก็ยังไปมาหาสู่กัน
และมีการแต่งงานกันระหว่างหมู่บ้าน
ยังคงมีโครงสร้างการปกครองอยู่ในระดับหมู่บ้าน
โดยมีผู้นำทางพิธีกรรมและการปกครองที่เรียกเป็นตำแหน่ง ฮี่โข่ ที่แปลว่า
หัวบ้าน หรือก้อโข่ ที่แปลว่า หัวแผ่นดิน การปกครองเบ็ดเสร็จในแต่ละหมู่บ้าน การเป็นผู้นำชุมชนจึงมีความเข้มแข็ง” 5
(ข้อมูลสัมภาษณ์พะตี่พือเกปา)
ในหมู่บ้านซิวาเดอ ชาวบ้าน ทำไร่แบบหมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ปีละ 1 ครั้ง นอกจากนั้นก็ยังมีการ
อนุรักษ์แม่น้ำลำธารและสิ่งแวดล้อม น้ำจึงมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ที่สำคัญคือ การอนุรักษ์ป่าไม้
เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวปกาเก่อญอ
ก่อนที่จะมีการเผ่าไร่เพื่อทำกินต้องมีการทำแนวกันไฟ มีการเลี้ยงผีที่ปกปักรักษาผืนป่า ส่งผลให้
ชีวิตของพี่น้องชาวปกาเก่อญอ มีความเกี่ยวข้องกับป่าไม้ ตั้งแต่เกิดจนตาย การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้จึง
เป็นประเด็นที่ผู้นำท้องถิ่นและลูกบ้านต้องให้ความสำคัญ
ในปัจจุบันเริ่มมีการถางไม้นอกพื้นที่ทำกิน
เนื่องจากว่ามีการนำไม้มาทำเป็นที่อยู่อาศัย
ชาวบ้านเริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ ต้องการผู้นำที่เอาจริงเอาจังกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำ ประมาณ 95
เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านที่ให้ข้อมูลกล่าวว่า
ป่าไม้ของพวกเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
เมื่อก่อนจำนวนประชากรมีน้อยพื้นที่ป่าในการทำมาหากินจึงมีเพียงพอ
การถางไร่เพื่อปลูกข้าวจึงไม่เป็นปัญหาเชิงพื้นที่
แต่ในปัจจุบันประชากรเพิ่มมากขึ้นจำนวนครัวเรือนก็เพิ่มมากขึ้น
ทำให้พื้นที่สำหรับการปลูกข้าวเริ่มมีจำกัด ก่อนที่จะมีการถางป่าในแต่ละปี
ก็ต้องมีการประชุมวางแผน แบ่งเขตพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภายหลัง ในกระบวนการดังกล่าวชาวบ้านต้องการผู้นำท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างลูกบ้าน

2. ผลการศึกษา
การที่เราจะอธิบายปรากฏการณ์ต่างที่เกิดขึ้นในชุมชน
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงสภาพทั่วไปและบริบทของชุมชน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลลายลักษณ์อักษรที่ถูกบันทึกไว้
ถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งนี้
ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลจากผู้รู้ในหมู่บ้านเพื่อนำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังนี้
2.1 ประวัติหมู่บ้านซิวาเดอ
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3
ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านของชาวปกาเก่อญอ
ตั้งอยู่ในเขตชายแดนไทย-พม่า ทางตอนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนจากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในหมู่บ้านทราบว่า บ้านซิวาเดอตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบันมาหลายชั่วอายุคนแล้วไม่ใครจำได้
ซิวาเดอเป็นชื่อของชายคนหนึ่งชื่อว่า “พาเซ่วา” คำว่า “เซ่วา” หมายถึง ต้นไม้สีขาว ส่วนคำว่า “เดอ” แปลว่าหมู่บ้าน ต่อมามีการเรียกชื่อที่เพี้ยนไปกลายเป็น
ซิวาเดอ แต่เดิมที่หมู่บ้านดังกล่าว มีต้นไม้สีขาวเป็นลักษณะประจำหมู่บ้าน เป็นที่สิงถิตย์ของผีต่างๆ
ปัจจุบันต้นไม้ดังกล่าวได้แห้งตายแล้ว
ในสมัยก่อนชาวบ้านนับถือผี ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของการเผยแผ่ศาสนาประกอบกับหมู่บ้านดังกล่าวมีพระธุดงค์ผ่านประจำ ชาวบ้านจึงนับถือศาสนาพุทธเป็นส่านใหญ่ ส่วนศาสนาคริสต์เพิ่มเข้ามาภายหลัง ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ
นายพะแม พะหละ ก่อนที่จะมาเป็นหมู่บ้านแห่งนี้เราได้ย้ายหมู่บ้านมาแล้วหลายครั้ง
ซึ่งแต่ละครั้งก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป เช่น บางแห่งมันอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ
บางครั้งเกิดโรคระบาด และบางครั้งเกิดการปล้นสดม เราจึงต้องย้าย “
เมื่อก่อนเรามีจำนวนสมาชิกในหมู่บ้านจำนวนน้อย การย้ายหมู่บ้านจึงสะดวก
ไม่ต้องกังวลอะไร พอมาถึงที่ที่เราตั้งอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ และพื้นที่อยู่ในหุบเขา ซึ่งปราศจากพายุ
เราจึงไม่ย้ายไปที่ไหนอีกเลย อาจเป็นเพราะเรามีจำนวนประชากรที่เยอะมากขึ้น
การสร้างบ้านเรือนด้วยไม้สัก ที่มีลักษณะใหญ่โตมากขึ้น
ทำให้การย้ายหมู่บ้านเป็นไปได้อย่างลำบาก ” 7
2.2 ภูมิศาสตร์และการคมนาคม
ลักษณะภูมิประเทศของบ้านซิวาเดอเป็นภูเขาส่วนใหญ่ มีพื้นที่ลุ่มน้ำตามลำห้วยเล็กน้อย เนื่องด้วยเขตพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำสาละวิน
ในทางภูมิศาสตร์ ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำสาละวินโดยส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน
คดเคี้ยว ซึ่งมีแนวต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสาขาต่าง ๆ
มีลักษณะแคบและยาวตามซอกเขา มีความต่างระดับมาก ที่ตั้งของหมู่บ้านซิวาเดอจึงอยู่ในหุบเขาเล็กๆที่มีลำธารไหลผ่าน
ทั้งนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการทำการเกษตร (พื้นที่นาส่วนน้อย) ในสมัยก่อนการคมนาคมมีความยากลำบากมากเพราะว่าเป็นถนนที่ขุดขึ้นมาใช้เองเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับตัวเมือง
การเดินทางอาจต้องใช้เวลา 2-3 วัน แต่ปัจจุบันการคมนาคมมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
หากจะลำบากก็จะเป็นในช่วงหน้าฝนที่ถนนเต็มไปด้วยโคลนอันเกิดจากการสไลด์ของหน้าดินในช่วงฤดูฝน
2.3
ยุคเปลี่ยนผ่านของหมู่บ้าน
ในแต่ละช่วงของหมู่บ้านซิวาเดอไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
โดยปราศจากความสัมพันธ์กับองค์กรภายนอกแต่ในทางตรงกันข้าม
หมู่บ้านซิวาเดอมีการปะทะสังสรรค์
กับองค์กรภายนอกมาโดยตลอดแต่ลักษณะความเข้มข้นแตกต่างกันไปตามยุคสมัย จากการพูดคุยกับผู้รู้ในหมู่บ้านทำให้ได้ทราบถึงทัศนคติของผู้คนกับการอาศัยอยู่
และยุคเปลี่ยนผ่านของหมู่บ้านที่มีผลต่อวิถีชีวิตโดยผู้ศึกษาได้แบ่งยุคของหมู่บ้านออกเป็น 3 ยุค ได้แก่
1. ยุคหมื่อบอทูดิ (ยุคดั้งเดิม)
2. ยุคก่อหล่าวา (ยุคฝรั่ง)
3. ยุคต่าเซต่าบะ (ยุคเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี)
หากจะกล่าวถึงช่วง 2
ทศวรรษที่ผ่านมาคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 – 2550
คงจะจัดอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคกล่อหล่าวากับยุคต่าเซต่าบะ
เพราะว่าในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านนี้สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำในการดูแลพื้นที่ป่า
เริ่มมีการนำกฎระเบียบเข้ามาจัดการในการควบคุมพื้นที่ป่า
ทั้งนี้เนื่องจากในหมู่บ้านมีประชากรเพิ่มมากขึ้น
และมีการบุกรุกจากคนต่างหมู่บ้านจึงต้องมีการประกาศเป็นกฎระเบียบของหมู่บ้านและให้ทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันสอดส่องดูและผืนป่าในเขตพื้นที่ของหมู่บ้าน
การแบ่งเขตแดนในการทำมาหากินของหมู่บ้านไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน
แต่จะอาศัยสันปันน้ำของเทือกเขาในการแบ่ง ประกอบกับพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยทำกิน
ก็ถือว่าเป็นเขตแดนของหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละคนจะทราบดีถึงขอบเขตในการใช้และดูแลผืนป่า
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนผู้ศึกษาจึงขออธิบายลักษณะเด่นของแต่ละยุคที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้
2.3.1 ยุคหมื่อบอทูดิ (ยุคดั้งเดิม)
ถือว่าเป็นยุคริเริ่มของการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนน้อยครอบครัว
ชักชวนกันตั้งถิ่นฐาน ซึ่งประกอบด้วยไม่กี่ครอบครัว ซึ่งคำว่าหมื่อบอทูดิ แปลว่า
ดวงอาทิตย์เหลืองอร่าม+ไข่ทองคำ
ถือว่าเป็นยุคสมัยแห่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ในป่ามีสัตว์ ในน้ำมีปลา และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในชุมชนมีคนอาศัยอยู่ตามวิถีของความพอเพียง
ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีกัน ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการเชื่อฟังผู้นำ (ฮี่โข่)
อย่างเคร่งครัด ผู้นำค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างเด็ดขาดในการตัดสินใจลงมือทำงาน การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เจ้าป่า เจ้าเขา การประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์
ในยุคนี้ยังไม่ค่อยมีการติดต่อกับสังคมในเมืองเท่าใดนัก แต่ก็มีบ้างสำหรับบางครอบครัวที่เดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อซื้อเกลือมาประกอบอาหาร เวลาเข้าไปในเมืองอาจต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์
จึงต้องชวนกันไปเป็นคณะ โดยการนำของป่าติดตัวไปด้วย ที่สำคัญจะต้องพูดภาษาไทยได้ จะสังเกตได้ว่าผู้นำชุมชนถึงแม้อายุจะมากแค่ไหน
เขาสามารถพูดภาษาไทยได้ และฟังรู้เรื่อง
สะท้อนให้เห็นว่าในสมัยที่ต้องลงออกไปซื้อเหลือเพื่อมาแบ่งให้กับลูกบ้าน
ฮี่โข่จะต้องเป็นผู้เดินทางไปเอง พร้อมด้วยเพื่อนบ้าน 4-5 คน
ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน มีความสนิทสนมกันมาก
ทุกคนในหมู่บ้านรู้จักกันเวลาไปทำงานจะไม่มีการเดินไปคนเดียว เพราะในสมัยนั้นจะต้องระมัดระวังตัวจากสัตว์ดุร้าย
อย่างเสือ หมี หมูป่า เป็นต้น
2.3.2 ยุคก่อหล่าวา (ยุคฝรั่ง) ยุคนี้เป็นช่วงนี้มีการเผยแผ่ศาสนาเข้ามาในหมู่บ้านโดยเฉพาะมิชชั่นนารีที่เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ อยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 ทำให้มีผู้นำครอบครัวบางส่วนหันมานับถือศาสนาคริสต์
แต่ก็มิได้ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม เพียงแค่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมเท่านั้นเอง
แต่ก็สามารถร่วมรับประทานอาหารด้วยกันฉันพี่น้องดังเดิม อาจเป็นเพราะว่าทั้งสองความเชื่อนี้
เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นเหมือนกัน แต่อาศัยศรัทธาที่แต่ละคนมี
เข้ามาเสริมกำลังใจในการดำเนินชีวิตและยึดหลักการทำมาหากินอย่างสุจริต เริ่มมีถนนตัดผ่านหมู่บ้าน
ที่เกิดจากการขุดด้วยมือของชาวบ้านเอง
มีการแลกเปลี่ยนติดต่อกับบุคคลภายนอกเพิ่มมากขึ้น
ภาครัฐเริ่มมีโครงการเข้ามาช่วยเหลือในชุมชน มีการสร้างสถานีอนามัยขึ้นในหมู่บ้านเพื่อรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่
เกิดการก่อตั้งโรงเรียนขึ้น โดยโรงเรียนบ้านซิวาเดอได้ถูกกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.
2528 ซึ่งจัดอยู่ในช่วงไล่เลี่ยกัน เริ่มมีครูเข้ามาสอนในโรงเรียน ชาวบ้านเริ่มส่งลูกเรียน ในช่วงแรกๆต้องมีการปรับทัศนคติในด้านการศึกษาอย่างมาก
เพราะว่าพื้นฐานชาวบ้านอยู่กับป่า การส่งลูกเรียนเป็นการเสียเวลา
แทนที่จะให้ลูกๆอยู่ช่วยทำงานบ้าน ระบบสังคมในชุมชนเริ่มมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
เริ่มมีความขัดแย้งกันในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ การตัดต้นไม้เพื่อนำมาใช้ในการสร้างบ้าน
ประกอบกับมีการเข้ามาของนักศึกษาในการก่อสร้างโรงเรียน
ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงทยอยส่งลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียน
การจัดระเบียบชุมชนเริ่มปรากฏเป็นทางการเพิ่มมากขึ้นโดยมีการนำเอาระบบการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่เข้ามาใช้
มีหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดคือ หมู่บ้าน ระดับใหญ่ว่าคือ ตำบล อำเภอ
และจังหวัดตามลำดับ
และในแต่ละระดับการปกครองก็มีผู้นำ ตามลำดับชั้น คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน
นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ
โดยเน้นไปตามสายบังคับบัญชา ระเบียบการปกครองนี้มีผลต่อโครงสร้างผู้นำหมู่บ้านเป็นอย่างมาก
ค่านิยมในการเลือกผู้นำเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อก่อนจะตัดสินใจจากความสามารถในการปกป้องดูแลชาวบ้านในหมู่บ้าน
มีความรู้ในด้านป่าไม้ และเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแท้จริง
เมื่อวันเวลาผ่านไปค่านิยมเหล่านี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
จึงเกิดความคิดในการแบ่งแยกระหว่างผู้นำท้องถิ่นที่เป็นทางการ
กับผู้นำท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการ
ผู้นำท้องถิ่นที่ไม่เป็นทางการจะทำหน้าที่ในการสืบทอด
และดำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชุมชน
และเป็นผู้นำทางฝ่ายพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวบ้าน
ส่วนผู้นำที่เป็นทางการหรือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องเป็นคนที่มีการศึกษามีความรู้
มีประสบการณ์ทางด้านการเรียนหนังสือ
เพราะจะต้องมีความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนในด้านความรอบคอบนั้นผู้อาวุโสหรือผู้นำที่ไม่เป็นทางการจะเป็นผู้ดูแลและให้คำเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา การเลือกผู้นำที่เป็นทางการ
ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีญาติพี่น้องเยอะกว่าจะมีโอกาสในการได้รับเลือกเป็นผู้นำท้องถิ่นสูงกว่าคนอื่นๆ
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายด้วยเช่นกัน ในด้านของฐานะทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้นำ
คือ ผู้ที่มีฐานะยากจนหรือปานกลางก็จะเลือกผู้นำที่เขาสามารถพึ่งพาได้ เช่น
การกู้ยืมเงิน การค้ำประกัน การพึ่งพารถยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้เองการช่วยเหลือในระยะเวลาที่ผ่านมาก็เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเลือกด้วยเช่นกัน
เนื่องจากเกิดความรู้สึกแบบบุญคุณเข้ามา
คนที่ช่วยเหลือกันบ่อยๆผู้ที่ถูกช่วยเหลือก็มักจะเทคะแนนเสียงให้กับคนๆนั้น
ส่วนผู้นำที่ไม่เป็นทางการหรือผู้นำทางด้านพิธีกรรมของชุมชนมักจะมาจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการดูและจัดการทรัพยากรป่าไม้มาก่อน
ละเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ เพราะว่าในหมู่บ้านของพี่น้องชาวปกาเก่อญออยู่กันได้ด้วยระบบความเชื่อที่เชื่อว่า
ที่มีกินมีใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะผีบรรพบุรุษเป็นผู้ให้มา
จึงต้องมีการบูชาและเคารพในทุกๆปี
ผู้นำเหล่านี้จึงเป็นผู้นำที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาก่อน
มีความรอบรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านของตนเอง รอบรู้ในขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอย่างดี 7
“ผู้นำ”
ตามความคิดของประชาชนในตำบลและหมู่บ้านดั้งเดิมโดยเฉพาะกำนัน
ผู้ใหญ่บ้านแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจสามารถสั่งการให้ประชาชนคล้อยตาม
เป็นผู้อาวุโส เป็นผู้มีบารมี มีอิทธิพล ประชาชนเกรงกลัว อันเนื่องมาจากกำนัน
ผู้ใหญ่บ้านใช้อำนาจหน้าที่ไปในลักษณะสร้างสัมพันธ์กับประชาชน ดูแลช่วยเหลือประชาชนตามสมควร
รวมทั้งสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกสภาจังหวัด
ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยการปกครองพื้นฐานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ
โดยเฉพาะในรูปแบบของ การปกครองส่วนท้องถิ่น การใช้กฎระเบียบเข้ามาจัดการความสงบเรียบร้อยจึงกลายมาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
ทั้งนี้เพื่อควบคุม กำกัดขอบเขตการใช้ทรัพยากรป่าไม้ที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
จึงก่อให้เกิดกฎระเบียบของชุมชนขึ้นมา

กฎระเบียบของหมู่บ้าน
ซิวาเดอ หมูที่ 3
ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
---------------------------------------------------
1. หมู่บ้านซิวาเดอ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จะแบ่งแยกมิได้
2. ห้ามตัดไม้และล่าสัตว์ในเขตอนุรักษ์และเขตต้นน้ำ ฝ่าฝืน ปรับท่อนละ 500
บาท
3. ห้ามจุดไฟป่า ฝ่าฝืนปรับ
500 บาท แต่ถ้าเป็นผู้นำชุมชน ปรับ 1000
บาท
4. ห้ามทำลายทรัพย์สินของส่วนรวมทุกชนิด ฝ่าฝืนปรับ 2 เท่าของราคาเดิม
5. ห้ามจับสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ ฝ่าฝืนปรับ ตัวละ 500
บาท/ครั้ง
6. ห้ามนำยาเสพติดทุกชนิดเข้ามาในหมู่บ้าน ฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
7. ห้ามสุราและส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป ฝ่าฝืนปรับ 300 บาท/ครั้ง
8. ห้ามปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอก
กรณีสัตว์เลี้ยงไปทำความเสียหายให้กับผู้อื่นและต้องชดใช้
ค่าเสียหายตามความเหมาะสม
9. ห้ามลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ฝ่าฝืน ต้องชดใช้ 2
เท่าของราคา
10. ทุกคนต้องมีถังขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่
11. ทุกคนในหมู่บ้านจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อตกลงของหมู่บ้านภายในตำบลแม่สามแลบ
12. ห้ามเล่นการพนัน ทุกชนิดในหมู่บ้าน (
ยกเว้นงานศพ ) ฝ่าฝืนปรับ 500
บาท และยึดของกลาง
13. ทุกคนในหมู่บ้านต้องให้การเคารพสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน
8
กฎระเบียบของหมู่บ้านนี้เกิดจากการบังคับบัญชาจากหน่วยงานภายนอกส่งผ่านลงมายัง
กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เพราะว่าจำนวนสมาชิกในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น
จึงต้องอาศัยกฎระเบียบที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน มีการกำหนดกฎระเบียบตำบล
กฎระเบียบหมู่บ้านที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมในระดับท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านเลยก็ว่าได้
เพราะว่าการจัดการระเบียบทางสังคมเริ่มมีหน่วยงานภายนอกเข้ามามีส่วนในการจัดการ จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงทรัพยากรป่าไม้ในอันดับต้นๆ
ที่มีการกำหนดเขตป่าอนุรักษ์ของชุมชน กำหนดเขตห้ามล่าสัตว์
หากมีการฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษ
2.3.3 ยุคต่าเซต่าบะ (ยุคเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี) จากการสอบถามข้อมูลจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน
ทัศนคติของชาวบ้านมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เกิดจากผลพวงของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
ซึ่งเป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้เพราะหมู่บ้านแต่ละแห่งก็เป็นแบบนี้เช่นกัน
สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้ในการปรับตัวและคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนเผ่าในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีมากกว่า
การจะมาปกป้องไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในยุคต่าเซต่าบะ
ถือเป็นยุคที่การศึกษาเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน
เมื่อนักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนแล้วมีการส่งเสริมให้ได้เรียนต่อ
โดยการเข้ามาอยู่ในเมือง ค่านิยม
ความเชื่อ และประเพณีที่เคยมีอย่างเข้มข้นเริ่มผ่อนคลายลง
เนื่องจากมีการส่งลูกๆเข้ามาเรียนในเมือง
การประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อต่างๆจึงคลาดเคลื่อนไปในเชิงเวลา
แต่ยังคงดำรงไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามที่เคยมี เช่นการมัดมืออาจไม่พร้อมกัน
เพราะว่าประเพณีมัดมือนั้นจะต้องรอให้ทุกคนในครอบครัวกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาจึงจะเริ่มได้
หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่กลับบ้านก็จะยังไม่เริ่มพิธี ในช่วงหลังเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน
เพราะว่าลูกๆส่วนใหญ่เข้ามาเรียนในเมือง แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งแต่อย่างใด
ก็จะหาเวลาในการมัดมือในช่วงที่ลูกๆกลับมาบ้าน วัฒนธรรมบริโภคนิยมเริ่มเข้ามาครอบงำคนในชุมชน การผลิตเริ่มเปลี่ยนไปในเชิงพาณิชย์
เช่นการปลูกถั่วเหลืองในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายในเมือง
การปลูกกระเทียมเพื่อส่งขายตามท้องตลาดในเมือง เป็นต้น ระบบการผลิตไม่เพียงแต่บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น
ยังผลิตเพื่อการค้าขายกับพ่อค้าคนกลาง ทั้งนี้มีปัจจัยที่จะต้องใช้จ่ายมากขึ้น
เช่น การส่งลูกเรียนหนังสือ
การจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน การซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เป็นต้น โครงสร้างของระบบนิเวศในธรรมชาติเริ่มแปรปรวนไปตามสภาพ
บางปีฝนเริ่มตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องจักรกล เช่น
มีการซื้อรถยนต์บรรทุก เพื่อไปซื้อของในเมืองมาขายในหมู่บ้าน การรับจ้างขนข้าวในฤดูเก็บเกี่ยว
ตลอดจนการไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านกับในเมืองมากขึ้น การเดินทางจากที่เคยใช้เวลา
2 วัน เหลือเพียง 2 ชั่วโมง เริ่มมีการบริโภคแบบฟุ่มเฟือยมากขึ้น กระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
มีการซื้อรถไถนาเดินตาม เครื่องตัดหญ้า เครื่องสีข้าว
ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก
2.4 อาชีพ
การดำรงอยู่ของชาวปกาเก่อญอในหมู่บ้านซิวาเดอ
อาศัยผืนป่าเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต
การประกอบอาชีพจึงเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยตรง การทำไร่หมุนเวียน
เพื่อปลูกข้าวบริโภคในครัวเรือน เป็นการปลูกข้าวไร่เป็นพืชหลัก
ผสมกับการปลูกพืชอาหารท้องถิ่น เช่น พริก มะเขือ งาดำ ฟักเขียว ฟักทอง น้ำเต้า
มะระ ถั่วเขียว ถั่วดำ ข้าวโพด พืชตระกูลแตง และพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า 40 - 50
สายพันธุ์ เตรียมพื้นที่ด้วยการตัดฟันและเผาก่อนการปลูกข้าวไร่
เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
จึงย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปแปลงอื่นที่ได้ปล่อยไว้ให้พักตัวแล้ว
และปล่อยให้พื้นที่ซึ่งเพิ่งทำการผลิตได้มีการพักตัวตามธรรมชาติ
โดยอาศัยกลไกธรรมชาติจากพื้นที่ป่าที่อยู่โดยรอบแปลงในการพื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
นอกจากการทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขาแล้วชาวบ้านยังหันมาทำนาในเขตลุ่มห้วยน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีด้วย
เป็นการเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง แต่พื้นที่ประเภทนี้ค่อนข้างมีจำกัด
จะมีเพียงไม่กี่คนที่เป็นเจ้าของที่นาในลุ่มน้ำลำห้วย โดยส่วนใหญ่ก็ยังปลูกข้าวเป็นพืชหลักเพื่อเอาไว้บริโภคในครัวเรือน
และจะมีการปลูกถั่วเหลือง ถั่วลิสง ผักกาด ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อขายด้วย
เพราะการทำนาลักษณะนี้ก็ทำได้แค่ปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกับการทำไร่
เนื่องจากว่าปริมาณน้ำในช่วงฤดูร้อนมีไม่เพียงพอ
2.5 วิถีชีวิตปกาเก่อญอกับทรัพยากรป่าไม้
“เออทีเก่าต่อที เออก้อเก่าต่อก้อ”
(ใช้ป่ารักษาป่า ใช้ดินรักษาดิน) คำเปรียบเปรยในการ ประกอบอาชีพที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวบ้านซิวาเดอ
การประกอบอาชีพจึงสะท้อนวิถีชีวิตในการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติอย่างเกื้อกูลที่เห็นได้ชัดเจน
เนื่องจากความเชื่อของคนปกาเก่อญอเชื่อว่า ทรัพยากรธรรมชาติทุกสิ่งมี เจ้าของ
ฉะนั้นก่อนจะมีการทำไร่จึงมีพิธีกรรมในการบอกเล่ากล่าวแก่เจ้าที่เจ้าทางเทวาผู้คุ้มครอง
ดูแลรักษา โดยมีพิธีกรรม 2 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้าน และระดับพื้นที่
พิธีกรรมระดับหมู่บ้านของ ผู้ที่นับถือศาสนาดั้งเดิมและศาสนาพุทธนั้นทำด้วยกัน คือ
การผูกมือเรียกขวัญก่อนฤดูการผลิต
มีการเชิญชวนเทวาอารักษ์ต่างๆมาดื่มกินร่วมกับคนในชุมชนเพื่อขออนุญาตใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
เพื่อการผลิตในรอบใหม่ โดยฮี่โข่ (ผู้นำหมู่บ้าน)
จะเป็นผู้อันเชิญแล้วมีการผูกข้อมือเรียกขวัญ ซึ่งกันและกันในชุมชน ส่วนพิธีกรรมระดับพื้นที่นี้
จะไปประกอบพิธีในพื้นที่ที่ทำการผลิตคือใน พื้นที่ฝาย พื้นที่ไร่
ฝายบางฝายมีเจ้าของหลายคนก็จะทำร่วมกัน ส่วนผืนนานั้นจะทำพิธีทุกคน ตามผืนนาของตนเอง
การทำพิธีบูชาเทพแห่งน้ำนั้นจะไปประกอบพิธีตรงที่ฝาย ส่วนการทำพิธีบูชา
เทพแห่งดินนั้นจะประกอบพิธีตรงที่นา ในการประกอบพิธีแต่ละครั้งนี้ จะให้ผู้อาวุโสเป็นผู้กล่าวขออนุญาตใช้พื้นที่และขอให้ได้ผลิตที่ดีงาม โดยมีการเซ่นไหว้ด้วยหมูหรือไก่ ขึ้นอยู่กับความยิ่งใหญ่ของพิธีกรรม พ่อหลวงพะแมเล่าว่า “พิธีกรรมในระดับพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ พิธีกรรมที่เรียกว่า บอ เออะ
ชิ (นา) บอ เออะ คึ (ไร่) จะจัดขึ้นในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง ออกรวง
โดยจะฆ่าหมูและไก่ เพื่อเซ่นไหว้เจ้าผืนไร่ผืนนา
ในช่วงการประกอบอาหารห้ามผู้ใดชิมอาหารก่อน เพราะยังไม่ได้ถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หลังจากประกอบอาหารเสร็จก็จะตัดเอาส่วนเล็บส่วนหู ส่วนขา ส่วนหัวใจ
ของหมูและไก่ไปเซ่นไหว้ แล้วถึงให้คนที่ไปร่วมพิธีกรรมทานได้”
จากพิธีกรรมดังกล่าวนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขาของชาวปกาเก่อญอเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการอนุรักษ์ป่า
ผ่านความเชื่อที่ทุกคนมีร่วมกัน การควบคุมทางสังคมต่อพฤติกรรมการใช้พื้นที่ป่าจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติที่ไม่ต้องเข้มงวดแต่อย่างใด
ในพิธีกรรมต่างๆเหล่านี้ผู้นำชุมชนที่ไม่ใช่ทางการก็ยังมีบทบาทสูงในการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ
เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และเคยเป็นผู้ปกป้องดูแลทรัพยากรป่าไม้เอาไว้ การเคารพ
ให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่เมื่อมองกลับมายังผู้นำชุมชนที่เป็นทางการเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้นเนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
การลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลแต่ละสมัยจึงมีผู้สนใจลงสมัครเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นผลจากการนำแนวคิดของภาครัฐเข้าไปใช้ในชุมชนเพื่อเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตย
2.6 ผลพวงการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงของชุมบ้านในแต่ละยุคจะเห็นได้ว่ามีทั้งผลดีต่อชุมชนและในขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อชุมชน
บางครั้งชุมชนสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้
แต่หลายๆครั้งชุมชนเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาพร้อมๆกับการจัดระเบียบทางสังคมที่เน้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย
เมื่อทรัพยากรธรรมชาติมิใช่เป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิตเท่านั้นแต่ยังเป็นฐานที่มั่นคงและสำคัญต่อการดำรงชีวิตในแง่ของการผลิตทางวัฒนธรรม
การแลกเปลี่ยน ตลอดจนการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ที่สำคัญกลายมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับภาครัฐในการอาศัยอยู่ในพื้นที่
โดยพยายามเน้นวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับป่า อนุรักษ์ป่าตามวิถีชีวิตดั้งเดิม
แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกลดความน่าเชื่อถือลงเป็นอย่างมาก
เพียงเพราะการจัดระเบียบสังคมที่ส่วนกลางเข้าไปเกี่ยวข้องกับประชาชนในระดับท้องถิ่นมากขึ้น
สังเกตได้จากกรณีพิพาทของชาวบ้านในพื้นที่ป่าหลายๆครั้ง
ชาวบ้านจะเป็นผู้แพ้ในการต่อสู้ทางศาลเสมอ เพราะว่ารัฐได้เอากฎหมายเข้ามาใช้ในการควบคุม
และจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ ชาวบ้านตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำเสมอ
หลายครั้งที่ชาวบ้านต้องเข้าคุกเพียงเพราะทำมาหากินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม
ในกรณีนี้ทนายความเลาฝั้ง ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า
“
สิ่งที่ภาครัฐน่าจะเสริมในกระบวนการยุติธรรมถ้าเป็นประเด็นในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในระดับตัวกฎหมาย จะต้องมีการออกกฎหมายใหม่ กฎหมายในเรื่องป่าไม้
พ.ร.บ.ต่างๆที่เกี่ยวกับป่า
คือจะต้องมีการแก้ไขแล้วก็ให้รองรับสิทธิของคนที่อยู่มาก่อน มีอยู่สองสิทธิ
คือสิทธิในการอยู่มาก่อนกับสิทธิในการเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในป่าได้ เช่น
ตัดไม้สร้างบ้าน หาของป่า เป็นต้น
ถ้าเกิดว่ามีกฎหมายแบบนี้ก็จะเป็นการเปิดช่องให้กับคนที่อาศัยอยู่มาก่อน คือเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
เช่นการทำไร่หมุนเวียนเขาก็จะมีสิทธิในการอยู่ต่อไปในพื้นที่ป่าที่กำหนด
จะให้ประโยชน์เองหรือจะโอนให้ลูกให้หลานมันก็จะไม่ผิดกฎหมาย อีกอย่างกรณีการไปตัดไม้หาเห็ดหาหน่อ
ก็จะเป็นการให้สิทธิว่าคุณจะทำได้ขนาดไหน ตรงไหน ใครเป็นคนดูแล
อาจจะให้คณะกรรมในชุมชนดูแล ก็จะสอดคล้องกับความเป็นจริง
วิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะอยู่ตรงนั้นต่อจริงด้วย อันนี้ก็เป็นตัวบทกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เรากำลังเรียกร้องอยู่
เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้
เรากำลังเสนอร่างกฎหมายยังไม่รู้ชื่อว่าเป็นกฎหมายยังไงนะ แต่จะเป็นลักษณะกฎหมายที่รับรองสิทธิชุมชน
ถ้าเป็นระบบกระบวนการยุติธรรมข้อเสนอมันเป็นไปได้ยากมันเสนอได้แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะว่าระบบมันถูกฝั่งรากมาลึก
ถ้าเป็นในลักษณะที่จะให้มันเป็นไปได้คือการจัดทนายความที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไปกระทบกระทั่งกับใคร
คดีทำลายทรัพยากรหรือคดีเกี่ยวกับสิทธิชุมชนอาจให้ศาลตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบหรือว่าเป็นที่ปรึกษาอาจเป็นนักวิชาการเข้ามาให้คำปรึกษาศาล ซึ่งข้อเสนอแบบนี้มันก็ไม่เป็นรูปธรรม
ศาลก็จะไม่ยอมรับเพราะในระบบมันจะไม่มีผู้พิพากษาสบทบ
หรือเสนอให้มีการตั้งคณะลูกขุนช่วยพิจารณาเสนอไปมันก็จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติในทางที่เป็นจริง ในกระบวนการยุติธรรมมันเป็นไปได้ยากอยู่
ถ้าถามว่าแก้อะไรดีที่สุดพี่ก็มองว่าไปแก้ที่ตัวบทกฎหมาย
ถ้ากฎหมายกำหนดสิทธิชุมชนศาลก็บังคับไปตามสิทธิชุมชน ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีสิทธิชุมชน ศาลก็เลยบังคับไปตามสิทธิชุมชนไม่ได้

ผู้นำกับการอนุรักษ์ผืนป่าที่เคยได้รับการยอมรับจากสมาชิกในหมู่บ้าน
มาวันนี้กลับไม่สามารถทำอะไรได้เพียงเพราะมีกฎหมายมาบังคับใช้กับผืนป่าที่ชาวบ้านอาศัยอยู่
การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐมีผลต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เช่น ลักษณะคดีหลังปี 2540
เป็นต้นมาถ้าถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เห็นก็คือ ดูจากคำพิพากษา การเปลี่ยนแปลงเกิดสักประมาณปี 2552
เป็นต้นมา หลังปี 2552 เป็นต้นมา
มันจะมีกระแสโลกร้อน คนในสังคมเริ่มคิดว่าทำยังไงให้ลดโลกร้อน ความคิดแรกของการลดโลกร้อนคือการปลูกป่า
มีพื้นที่ป่าเยอะๆ
ในเมื่อกระแสสังคมมันมาแบบนี้มันก็ส่งผลให้ในทางการเมืองในทางความเชื่อ
จึงมีนโยบายในเรื่องเข้มงวดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ คำพิพากษาของศาลเองก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน อย่างสมัยก่อน กรณีที่มีการบุกรุกป่า
หรือว่าไปตัดไม้ในปริมาณไม่เยอะ ส่วนใหญ่ก็จะได้รับการรอการลงโทษ
แล้วก็จะโทษปรับที่ไม่ค่อยเยอะมาก
แต่ว่าหลังปี 2552 เป็นต้นมา แนวโน้มของคดีทรัพยากร ศาลก็จะลงโทษเกือบทุกรายแล้วก็ไม่รองลงอาญาให้ด้วย ถ้ามองในเชิงของความเป็นชุมชนแล้ว มันเป็นวิธีคิดที่ทางส่วนกลางกำหนด
11
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงเรื่องปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้เพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของโฉนดชุมชนอีกด้วย “ แม่ฮ่องสอนมีหมู่บ้านที่เป็นเป้าหมายในการรวมเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องโฉนดที่ดิน สิทธิในการได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่ว่าการเรียกร้องที่ผ่านมาก็เคลื่อนไหวก็มีความคืบหน้าไปในระดับหนึ่ง เริ่มมีนโยบายมารองรับ
แต่ว่ามันก็ไม่ได้ถูกปฏิบัติให้มันเป็นจริง เช่น นโยบายสมัยคุณ อภิสิทธิ์ ตอนปี
2553 ก็มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อที่จะป้องกันปัญหาการขัดแย้งในเรื่องพื้นระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมันก็ยังไปไม่ถึง
ทั้งประเทศตอนนี้มีสองหมู่บ้านที่ออกโฉนดที่ดินชุมชนแล้ว ทั้งประเทศเรียกร้องไปกว่า
300 หมู่บ้าน มีสองหมู่บ้านที่ได้รับ
และหมู่บ้านที่ดีรับเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในเมือง
และไม่ได้เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ด้วย ส่วนพื้นที่ที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้
ในทางปฏิบัติมันเป็นไปได้ยาก
เพราะหน่วยงานหลักที่ควบคุมคือกรมป่าไม้เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ทำให้ชาวบ้านมีเอกสารสิทธ์ในป่า
และในเมื่อมันเป็นนโยบายมันก็อยู่ที่ว่าจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้”
3. บทสรุป
การศึกษาบทบาทผู้นำต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในหมู่บ้านซิวาเดอ
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2530 - 2550) ทำให้เราเห็นพัฒนาการของความซับซ้อนในระดับท้องถิ่นเล็กๆแห่งหนึ่ง
หากมองในภาพรวมของสังคมก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก
กับสถานการณ์ที่สังคมถูกทุนนิยมครอบงำ จนขาดการพึ่งพาตนเอง ผู้นำที่เคยมีความสำคัญในเชิงจิตวิญญาณกลับถูกแยกออกจากผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
กลไกในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ก็ถูกแย่งชิงพื้นที่ไปจนแทบจะไม่เหลือที่ยืนให้กับชุมชนรอบนอก
แต่ทั้งนี้เองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้หากเรามองในแง่มุมที่ดีก็จะเห็นข้อได้เปรียบอยู่หลายประกาศ
เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายข้อมูลที่เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น
การเรียกร้องสิทธิในเชิงการต่อรองอำนาจทางการเมืองมีมากขึ้น
เพราะว่ามีความสะดวกสบายในการสื่อสารระหว่างกลุ่มด้วยกันเอง สิ่งที่เรามิอาจปฏิเสธได้เลยคือ ชุมชนล้วนอาศัยทรัพยากรดิน
น้ำ ป่า เป็นฐานในการดำรงชีพ ตลอดจนการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม
ที่ทำให้คนเกิดจิตสำนึกร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่าอันเป็นสาธารณะสมบัติที่ชุมชนมีอยู่
รวมทั้งลำห้วยที่เราใช้ประโยชน์ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการต่อรองกับภายนอกได้ด้วย โดยการยกกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
หากชุมชนไม่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์
ชุมชนก็จะขาดเครื่องมือในการต่อรองกับองค์กรภายนอก
การพัฒนาชุดความรู้ที่เอื้อต่อการดำเนินการจัดการจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะสร้างพื้นที่ยืนให้กับชุมชน
เพื่อการดำรงอยู่และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์อย่างสมศักดิ์ศรี ผู้นำในยุคปัจจุบันจะต้องรู้เท่าทันโลกภายนอกมากขึ้น
ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เรามิอาจหยุดยั้งได้นี้
คนในชุมชนเองจะต้องมีจุดยืนและมีการกรัยตัวเพื่อการอยู่รอดโดยที่รบกวนทรัพยากรธรรมชาติน้องที่สุด
ที่สำคัญจะต้องมีการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ชุมชนมีอยู่แล้วนั้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตเพื่อยังชีพ หรือมีวิธีคิดบนฐานการผลิตแบบใหม่
ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัดเจนแต่ก็มีสิ่งชัดเจนเสมอเช่นกันนั่นก็คือ
การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวปกาเก่อญอของหมู่บ้านซิวาเดอ แม้กระแสทุนนิยมเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
ไม่เว้นแม้กระทั่งโครงสร้างการจัดระเบียบทางสังคมภายใน
แต่มันก็เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยในบริบทของช่วงเวลานั้นๆ แม้จะยังไม่เปลี่ยนในวันนี้มันก็ต้องเปลี่ยนในสักวัน
อยู่ที่ว่าจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง หัวใจสำคัญอยู่ที่การเตรียมรับมือและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน
ทั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ “เรียนรู้เพื่อการอยู่รอด”.
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์
1. พ่อหลวงพะแม พะหละ
ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านซิวาเดอ
2. ทนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ศูนย์พัฒนาเครือข่าย
เด็กและชุมชน อำเภอสบเมย
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
3. พะตี่พือแกปา บุคคลผู้อาวุโสในหมู่บ้านซิวาเดอ
4. นายสง่า พิสมัย
ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านซิวาเดอคนปัจจุบัน
5. ผู้ที่มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล
เอกสารอ้างอิง
จุไรพร
จิตพิทักษ์. วัยรุ่นชาติพันธุ์ชายขอบกับการปรับตัวในเมืองเชียงใหม่ : กรณีศึกษา
วัยรุ่นปกาเอะญอ :
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553.
นายนพดล อยู่พรหมแดน. เรื่อง การศึกษาทัศนคติของชาวปกาเก่อญอที่มีต่อผู้นำชุมชนใน
ตำบลแม่สามแลบ พ.ศ.
2555 โครงการ ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น สนับสนุนโดย USAID
นายนพดล อยู่พรหมแดน เรื่อง การจัดการความขัดแย้งภายใต้กระบวนการยุติธรรมระหว่างรัฐ
กับประชาชน กรณีศึกษา :
ศาลจังหวัดแม่สะเรียง พ.ศ. 2556 โครงการ ประชาธิปไตย
กับท้องถิ่น สนับสนุนโดย USAID
สุมิตรชัย หัตถสาร. (2554). โครงการการพิสูจน์สิทธิในคดีป่าไม้และที่ดิน
(ศึกษาจาก
มุมมองของ ทนายความ
นักพัฒนา และชาวบ้าน) โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
(EnLAW).
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์. (2550). การดำรงความเป็นชุมชนปกาเก่อญอท่านกลางการ
เปลี่ยนแปลงในด้านทรัพยากร
เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคม.
บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อานันท์ กาญจนพันธ์. (2535). ศักยภาพขององค์กรชาวบ้านในการจัดการป่าชุมชน:
กรณีศึกษาหมู่บ้านในภาคเหนือ.
สถาบันวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. 2556. รายงานสาธารณะ “ สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2555 ”
แหล่งที่มา
http://www.seub.or.th/ (วันที่ 15 กันยายน 2556)
ประชาไทย. 2555. “ศาลต้องเข้าใจความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
บทเรียนจากคดี
แม่อมกิ” แหล่งที่มา http://prachatai.com/journal/2012/06/41215
(22 มิถุนายน 2555)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
2553. “เขตวัฒนธรรมพิเศษ
กับความจริงที่เกิดขึ้นของกลุ่มชาติ
พันธุ์” โดย พณกฤษ อุดมกิตติ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
แหล่งที่มา
http://www.sac.or.th/main/article_detail.php?article_id=198&category_id=15